นายอภิจิณ โชติกเสถียร
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งที่ 40-8/2562 ว่า
ที่ประชุมได้รับหนังสือจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ส่งถึงนายพสุ โลหารชุน
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา
เรื่อง การแจ้งบัญชาของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)
กรณีการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ประเภท
ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยเร่งให้คณะกรรมการฯ
ดำเนินการหารือทั้ง 4 ส่วน คือภาครัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค
ในการแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจ รวมถึงปัญหา วิธีการและผลกระทบ
เพื่อให้เข้าใจตรงกัน เพราะรัฐบาลไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับผู้นำเข้าสาร 3 ประเภท
แต่อย่างใด “ที่ประชุมมอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปหารือทั้ง 4 ส่วน
เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันถึงแนวทางปฏิบัติในเชิงวิชาการถึงวิธีการแก้ไขปัญหาและผลกระทบทั้งหมด
รวมทั้งในส่วนของการลด เลิก หรือหาสารทดแทนการใช้สาร 3 ประเภท
และให้กลับมารายงานความคืบหน้าภายใน 60 วัน นับจากนี้” นอกจากนี้
ยังมอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปเร่งหาการหาสารทดแทน ในกรณีที่ต้องยกเลิกสารทั้ง 3
ประเภท
ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับกลับไปรวบรวมข้อมูลเพื่อค้นคว้าวิจัยให้ได้ข้อสรุปในการประชุมครั้งต่อไปในเดือน
ต.ค.นี้ เพราะปัจจุบันยังไม่สามารถหาสารอื่นๆที่เข้ามาทดแทนทั้ง 3 สารได้
จึงเป็นเรื่องที่กระทรวงเกษตรฯต้องไปหาสารทดแทน ที่ต้องคำนึงถึงราคาที่ผู้บริโภค
และผู้นำเข้าสามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งราคาต้องไม่สูงเกินกว่าที่จะยอมรับได้
โดยเฉพาะสิ่งสำคัญต้องไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย
“ที่ประชุมยังได้รับหนังสือจากพลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ส่งมาถึงกระทรวงอุตสาหกรรม
ที่ขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายและกระทรวงอุตสาหกรรม
นำข้อเท็จจริงจากความเห็นของกระทรวงสาธารณสุข
ที่ยืนยันอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจากพาราควอต
ไปประกอบการพิจารณาในการปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
เพื่อปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอตที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4
ให้มีผลโดยเร็ว หรือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563”.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น